วันพฤหัสบดีที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ศูนย์ราชการุณย์ สภากาชาดไทย เขาล้าน เดิมชื่อว่า ศูนย์สภากาชาดไทย เขาล้าน ตั้งอยู่ถนนตราด-คลองใหญ่ กิโลเมตรที่ 48 ริมทางหลวงหมายเลข 318 
    
ประวัติความเป็นมา
    ศูนย์ราชการุณย์สภากาชาดไทย เขาล้าน อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด มีนามเดิมว่า "ศูนย์สภากาชาดไทย เขาล้าน จังหวัดตราด" ได้ก่อกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ.2522 โดยพระราชเสาวนีย์ ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สภานายิกาสภากาชาดไทยที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานความช่วยเหลือแก่ผู้อพยพชาวกัมพูชาจำนวนนับแสนคนที่หนีภัยสงครามภายในประเทศเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ในเขตราชอาณาจักรไทยบริเวณบ้านเขาล้าน ตำบลไม้รูด อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด
    ในระยะแรกมีการก่อสร้างเพิงชั่วคราว เพื่อใช้เป็นที่ทำการ ที่พัก หน่วยพยาบาล ต่อมาจึงทำการก่อสร้างอาคารถาวร ประกอบด้วยสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า โรงฝึกอบรม โรงเรียน และบ้านพัก ศูนย์สภากาชาดไทยแห่งนี้ให้ความอนุเคราะห์แก่ผู้ลี้ภัยชั่วเวลาหนึ่ง ได้ปิดลงอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2529 บริเวณดังกล่าวจึงถูกปล่อยทิ้งว่างไม่ได้ใช้ประโยชน์ เมื่อปิดศูนย์ฯ ลง สภากาชาดไทยได้ขอให้กองทัพเรือส่งทหารเข้ามาดูแลพื้นที่ กองทัพเรือได้จัดให้ชุดควบคุมทหารพรานนาวิกโยธินที่ 3 เข้ามาอยู่ดูแลพื้นที่

    ในปี พ.ศ. 2535 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย ทรงมีพระราชดำริให้สภากาชาดไทย จัดทำโครงการพัฒนาศูนย์สภากาชาดไทยแห่งนี้ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติและเฉลิมฉลองในวโรกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สภานายิกาสภากาชาดไทย ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ ได้พระราชทานแนวพระราชดำริไว้ 3 ประการ คือ
    1. จัดสร้างพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สภานายิกาสภากาชาดไทย ในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ ในปี พ.ศ. 2535 เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแห่งพระมหากรุณาธิคุณ โดยสร้างศาลาราชการุณย์ เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่พระราชทานแก่ผู้อพยพชาวกัมพูชา เป็นที่จัดแสดงความเป็นมา สิ่งของ ภาพถ่าย รวมทั้งหุ่นจำลองขนาดเท่าของจริงที่เกี่ยวกับชาวกัมพูชาอพยพ และค่ายผู้อพยพ เกี่ยวกับกิจวัตรประจำวันเช่น หุงหาอาหาร เย็บปักถักร้อย เป็นต้น
    2. ใช้อาคารสถานที่บริเวณศูนย์ฯ ให้เกิดประโยชน์ จัดทำเป็นศูนย์ฝึกอบรม ใช้ฝึกอบรมและเข้าค่ายพักแรมของเยาวชน
    3. ใช้ประโยชน์สภาพภูมิประเทศพื้นที่ชายหาดพักผ่อนหย่อนใจ ดัดแปลงอาคารเดิมเป็นห้องพักติดตั้งเครื่องปรับอากาศ โทรทัศน์สี และอุปกรณ์อำนวยความสะดวกอื่นๆ พร้อมดัดแปลงเป็นอาคารพักแรมและอาคารจัดกิจกรรม

    
สิ่งที่น่าสนใจภายในศูนย์ราชการุณย์ สภากาชาดไทย เขาล้าน
    
สวนไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัด 76 จังหวัด ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 72 พรรษา ในปี พ.ศ. 2542 สภากาชาดไทย จัดทำโครงการพฤกษชาติบูชา พระบรมราชูปถัมภก 6 รอบ ปลูกต้นไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัด 76 จังหวัด รวม 972 ต้น ล้อมรอบรูปแผนที่ประเทศไทยในพื้นที่ประมาณ 16 ไร่เศษ

    
สวนสมุนไพร สวนสมุนไพรสมเด็จองค์อุปนายิกา ผู้อำนวยการสภากาชาดไทย ปลูกต้นไม้และพืชสมุนไพร จัดเป็น 20 กลุ่มโรค ในพื้นที่ประมาณ 3 ไร่ เพื่อประโยชน์ทางวิชาการสำหรับเยาวชนและผู้สนใจทั่วไป

    
หลวงพ่อแดง เป็นพระพุทธรูปแบบสุโขทัยปางมารวิชัย องค์พระพุทธรูปเดิมเป็นทองเหลืองเคลือบสีแดง จัดสร้างโดยพระวิสุทธิญาณเถระ (หลวงปู่สมชาย ฐิตฺวิริโย) วัดเขาสุกิม จังหวัดจันทบุรี ตามพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงให้มีพระพุทธรูปไว้สักการะบูชา เพื่อยึดเหนี่ยวและเป็นที่พึ่งทางจิตใจ แก่ผู้อพยพชาวกัมพูชาที่หนีภัยสงครามเข้ามาพึ่งพระ

บรมโพธิสมภารเมื่อปี พ.ศ.2522 และเป็นที่สักการะบูชาของชาวจังหวัดตราดและจังหวัดใกล้เคียง

    
ที่พัก สถานที่พักผ่อนสำหรับประชาชนทั่วไปมีที่พักชนิดห้องเตียงคู่ จำนวน 30 ห้อง มีสิ่งอำนวยความสะดวก แต่ละห้องมีเครื่องปรับอากาศ โทรทัศน์ เครื่องทำน้ำอุ่น ห้องน้ำในตัว และอาคารที่พักนอนรวมอีก 8 อาคารสามารถรองรับผู้เข้าพักได้ทั้งสิ้น รวม 209 เตียง มีสถานที่สำหรับประชุมสัมมนา จัดค่ายพักแรมของเยาวชนและสถานที่กางเต็นท์ ภายในศูนย์ฯ มีอาหารดี ราคาเยา ส่วนด้านความปลอดภัย ภายในศูนย์ฯ มีชุดควบคุมอาสาสมัครทหารพรานนาวิกโยธินที่ 3 คอยดูแลความปลอดภัย
    ติดต่อสำรองที่พัก ได้ที่ โทร.0-3952-1838,0-3950-1015 ,081-926-2803 ,089-769-2475, 087-600-686 โทรสาร.0-3952-1621 ตลอด 24 ช.ม.

    Web site: http://www.redcross.or.th/khaolan
    E-mail : khaolan@redcross.or.th
ด้านหน้าทางเข้าศูนยราชการุณย์ ทางหลวงหมายเลข 318 จากตัวเมืองตราดมุ่งหน้าไปทางอำเภอคลองใหญ่ เป็นพื้นที่ที่อยู่ติดชายแดนกัมพูชาตลอดสาย จากประวัติความเป็นมาก็คงเข้าใจกันแล้วนะครับว่าที่นี่เป็นศูนย์ที่เปิดเพื่อช่วยเหลือชาวกัมพูชาลี้ภัยสงคราม เมื่อเราเดินทางมาถึงที่ศูนย์ด้านหน้ามีป้ายเป็นที่สังเกตุง่ายมาก

ด้านหน้าทางเข้าศูนยราชการุณย์ ทางหลวงหมายเลข 318 จากตัวเมืองตราดมุ่งหน้าไปทางอำเภอคลองใหญ่ เป็นพื้นที่ที่อยู่ติดชายแดนกัมพูชาตลอดสาย จากประวัติความเป็นมาก็คงเข้าใจกันแล้วนะครับว่าที่นี่เป็นศูนย์ที่เปิดเพื่อช่วยเหลือชาวกัมพูชาลี้ภัยสงคราม เมื่อเราเดินทางมาถึงที่ศูนย์ด้านหน้ามีป้ายเป็นที่สังเกตุง่ายมาก
ส้นทางภายในศูนย์ราชการุณย์ เมื่อเลี้ยวเข้ามาแล้วเราจะได้สัมผัสบรรยากาศธรรมชาติที่ร่มรื่น มีต้นไม้มากมาย ริมทางปลูกดอกไม้สวยๆ ตลอดทาง ขับเข้าไปไม่นานเราก็จะถึงบริเวณอนุสรณ์สถานและศาลาราชการุณย์ นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่เดินทางมาพักผ่อนที่หาดราชการุณย์ที่อยู่ในพื้นที่ของศูนย์ฯ มักจะมุ่งหน้าเลยเข้าไปริมหาดกันก่อน หากมีเวลามากพอหรือค้างที่บ้านพักภายในศูนย์จึงค่อยออกมาชมศาลาราชการุณย์ แม้ว่าจะเป็นการเดินทางมาที่นี่เป็นครั้งที่ 2 ของผม ก็ยังมีเวลาจำกัดจึงยังไม่ได้เข้าไปชมภายในพิพิธภัณฑ์
บึงเขาล้าน เป็นแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ที่อยู่ใกล้ทะเลมาก ถนนภายในศูนย์ตามเส้นทางมุ่งหน้าลงหาดจะผ่านบึงแห่งนี้ เป็นทัศนีย์ภาพที่สวยงาม อีกฟากหนึ่งของถนนก็ยังคงเป็นบริเวณบึงขนาดใหญ่ 2 ข้างทางของถนนบริเวณนี้ปลูกดอกไม้จำนวนมากทั้ง 2 ข้าง วิวสวยทีเดียวครับ
ติดต่อที่พักศูนย์ราชการุณย์ หากสนใจจะค้างที่หาดราชการุณย์เข้าไปติดต่อที่พักจะมีป้ายบอกทางตลอดจนไปถึงหน่วยสำรองบ้านพัก หรือถ้าจะให้ดีควรติดต่อไปล่วงหน้าเพราะนักท่องเที่ยวนิยมไปเที่ยวหาดราชการุณย์แห่งนี้กันไม่น้อย ติดต่อสำรองที่พัก ได้ที่ โทร.0-3952-1838,0-3950-1015 ,081-926-2803 ,089-769-2475, 087-600-686 โทรสาร.0-3952-1621 ตลอด 24 ช.ม. หรือ Web site: http://www.redcross.or.th/khaolan สถานที่ติดต่อที่พักอยู่ใกล้ๆ กับศาลาทูลเกล้าฯ อยู่ริมหาดราชการุณย์ หากไม่ได้เข้าพักที่นี่ บริเวณศาลาทูลเกล้าฯ จะเป็นเขตสิ้นสุดที่เราจะเข้าไปได้ แต่ถ้าพักที่นี่จะมีชายหาดที่ทอดยาวออกไปตามบ้านพักที่จะเป็นสถานที่พักผ่อนลงเล่นน้ำทะเลได้



ศาลาทูลเกล้าฯ ศาลาไม้ที่สร้างขึ้นในการรับเสด็จ ห้ามขึ้นไป
ร้านสวัสดิการหาดราชการุณย์ เป็นร้านที่อยู่ใกล้ๆ กับศาลาทูลเกล้าฯ และที่ติดต่อที่พักของหาดราชการุณย์ ร้านนี้จำหน่ายเครื่องดื่มขนม และของเล็กๆ น้อยๆ ถ้าจะกินข้าวก็ต้องไปอีกด้านหนึ่งของหาดมีร้านอาหารอยู่ มีโต๊ะนั่งริมหาดบรรยากาศดี
หาดราชการุณย์ (เดินไปทั่วบริเวณศูนย์แล้ว เพิ่งจะมากล่าวถึงหาด) นี่ก็เป็นวิวสวยๆ ของหาดทรายสีขาวที่ทอดยาวสุดสายตา หาดราชการุณย์ได้รับการดูแลเป็นอย่างดี และมีความเข้มงวดในด้านความสะอาด จะมีป้ายเตือนเกี่ยวกับการทิ้งขยะให้ลงถังขยะอยู่หลายจุด และถึงแม้ไม่มีป้ายเราก็ควรจะทิ้งลงถังขยะเท่านั้น เพื่อรักษาหาดสวยๆ ของไทยแห่งนี้ให้คงอยู่ถึงคนรุ่นหลังจะได้มาเที่ยวชมอย่างสบายใจเหมือนเราๆ